ถ้าการเมืองดี : คดี โรบินโญ่ ที่สะท้อนว่าการข่มขืนไม่ใช่เรื่องใหญ่ที่บราซิล
ถ้าการเมืองดี … คำ ๆ นี้ทำให้ใครหลายคนเห็นภาพชัดมากขึ้นว่า แท้จริงแล้วความยุติธรรมและรัฐบาลที่ดี สามารถเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตของประชาชนได้มากแค่ไหน
และนี่คือเรื่องราวที่ส่งตรงจากบราซิล ว่าด้วยเรื่องคดีการข่มขืนของ โรบินโญ่ ที่กินเวลาตัดสินมานานหลายปีกว่าจะได้ข้อสรุป และคดีนี้จะสะท้อนให้คุณเห็นว่า คุณภาพชีวิตผู้หญิงที่ประเทศบราซิลเป็นอย่างไร ? โหดร้ายแค่ไหน
ติดตามได้ที่นี่
จากโรบินโญ่ถึงอีกมากมาย
คดีข่มขืนของ โรบินโญ่ อดีตสตาร์ทีมชาติบราซิล, เรอัล มาดริด และ แมนฯ ซิตี้ ได้รับการตัดสินจากศาลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งผลพิจารณาคดีปรากฏว่า เขาผิดจริงจากคดีข่มขืนและต้องติดคุกเป็นเวลา 9 ปี
ประเด็นนี้ต้องย้อนกลับไปในปี 2013 วันนั้น โรบินโญ่ ถูกกล่าวหาว่าเขาคือหนึ่งในผู้ข่มขืนหญิงสาวชาวแอลเบเนียที่ประเทศอิตาลี สมัยเล่นให้ เอซี มิลาน การไต่สวนเกิดขึ้นตั้งแต่วันนั้นและได้คำตัดสินในศาลชั้นต้นเมื่อปี 2017 ซึ่ง โรบินโญ่ และผู้ร่วมก่อคดีข่มขืนต้องโทษจำคุก 9 ปี และปรับเป็นเงิน 50,000 ปอนด์ (ราว 2 ล้านบาท) ต่อคน
โรบินโญ่ ขอสู้คดีต่อด้วยการอุทธรณ์เพื่อหาหลักฐานมาแก้ต่าง กระบวนการอุทธรณ์ใช้เวลาถึง 3 ปี เพื่อได้ข้อสรุปสุดท้ายว่าเขาผิดจริงและมีหลักฐานมัดตัวชัดเจน จนกระทั่งท้ายที่สุดเเล้วโทษจำคุก 9 ปี ก็ย้อนกลับมาเล่นงานเขาจนได้
นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นในศาล ทว่าความจริงมีเรื่องราวเบื้องหลังที่สามารถสะท้อนสิ่งต่าง ๆ ได้มากมายเกี่ยวกับนักเตะบราซิล หรือผู้ชายในบราซิล ที่ทำให้ปัญหาอาชญากรรมและคุกคามทางเพศเกิดมากขึ้น ในปี 2015 บราซิลเป็นประเทศที่มีคดีฆาตกรรมผู้หญิงสูงเป็นอันดับ 5 ของโลก และในระหว่างมี 2018 ถึงปี 2019 การละเมิดทางเพศในบราซิลมีเปอร์เซ็นต์สูงขึ้นถึง 7% และ 85% ของผู้โดนกระทำเป็นสตรี สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงอะไรหลาย ๆ อย่าง สิ่งที่ชัดที่สุดคือความปลอดภัยของชีวิตสำหรับผู้หญิงในบราซิลนั้นมีอยู่น้อยมาก
“บราซิลยังคงเป็นหนึ่งในสถานที่ที่อันตรายที่สุดในโลกสำหรับผู้หญิง และสถานที่ที่อันตรายที่สุดสำหรับผู้หญิงก็คือบ้านของพวกเธอเอง” Valeria Scarance พนักงานอัยการกล่าวกับรายการ Jornal Nacional
ปัญหาที่แท้จริงคือผู้คนในประเทศบราซิลไม่ได้เห็นปัญหานี้เป็นเรื่องใหญ่ โดยเฉพาะเหล่าคนใหญ่คนโตที่มองข้ามปัญหาเรื่องเพศและความรุนแรงมาโดยตลอด อาทิผู้นำของประเทศอย่างประธานาธิบดี ชาอีร์ โบลโซนาโร ที่เคยดูหมิ่นด้วยคำพูดใส่ ส.ส. ผู้หญิงคนหนึ่งของพรรคคู่แข่งว่า “ผู้หญิงที่หน้าตาน่าเกลียดอย่างเธอน่ะเหรอ ถ้าให้ผมข่มขืนผมก็ไม่ทำหรอก เธอไม่สมควรได้รับมันด้วยซ้ำ”
ตัวอย่างของ โบลโซนาโร คือเหตุที่ทำให้หลายคนมองว่า นี่คือตัวอย่างและกรณีศึกษาของประเทศบราซิล เพราะที่นี่ผู้ชายมักจะถืออภิสิทธิ์เป็นใหญ่เสมอ พวกเขาดูถูกเพศที่ 3 อย่างสนุกปาก หรือแม้กระทั่งการดูถูกลูกสาวคนสุดท้องของตัวเองว่า “เป็นช่วงเวลาแห่งความอ่อนแอ” เลยทีเดียว
“อาชญากรรมเกี่ยวกับสตรีและเด็กมีอยู่จริง ส่วนเหตุผลที่มันเป็นเช่นนั้นเพราะสังคมยังไม่สบายใจที่จะพูดถึงและยอมรับ หลายคนมองว่ามันไม่ใช่ปัญหาในชีวิตของส่วนใหญ่ ดังนั้นการเตรียมหามาตรการเพื่อแก้ไขก็ไม่มีความจริงจัง เราเพียงอยากจะต่อสู้ให้ปัญหาอาชญากรรมเหล่านี้เป็นประเด็นใหญ่ในสังคมให้ได้” Luciana Temer ประธานองค์กรพัฒนาเอกชน Liberta กล่าวถึงปัญหาที่มองไม่เห็นในประเทศบราซิล
ถ้าการเมืองดี
กระบวนการยุติธรรมคือสิ่งที่ประชาคนทุกคนไม่ว่าในประเทศใดต่างก็หวังพึ่ง และที่ บราซิล เองก็เช่นกัน … ทว่าที่นี่มีบางอย่างที่ไม่สามารถควบคุมและจัดการให้เด็ดขาดได้
ไม่ใช่แค่คดีข่มขืน และ ล่วงละเมิดทางเพศเท่านั้น บราซิล จัดว่าเป็นประเทศที่มีอัตราการก่ออาชญากรรมสูงมาก ทั้งการฆาตกรรมและการปล้น มีการสรุปอัตราค่าเฉลี่ยมาว่าชาวบราซิลทุก 1 แสนคน มีโอกาสเป็นผู้ประสบเหตุในคดีอาชญากรรม 30-35 คน ซึ่งตัวเลขข้างต้น บวกกับตัวเลขสถิติกรณีล่วงละเมิดทางเพศและข่มขืน เป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกันอย่างเลี่ยงไม่ได้
ปัญหาใหญ่ที่ทำให้การก่ออาชญากรรมในบราซิลติดอันดับท็อป 20 ของโลก เพราะปัญหาหลากหลายด้าน เช่นปัญหาความยากจน, ปัญหายาเสพติด, ปัญหาเรื่องการครอบครองอาวุธ เพราะปืนหาง่ายมาก อาชญากรรมกว่า 90% ในบราซิล เกิดขึ้นจากปืนทั้งสิ้น นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องแก๊งและขั้วอำนาจภายในประเทศมากมาย … ว่าง่าย ๆ ให้พอเห็นภาพคือ รัฐบาลไม่สามารถจัดการกับสิ่งเหล่าได้ดีนัก ที่สำคัญที่สุดคือคนผิดมักไม่ได้รับโทษอย่างที่สมควรจะเป็น
มีหลากหลายคดีที่เหล่าขั้วอำนาจระหว่างแก๊งที่มีอิทธิพลสามารถกระทำการฆ่าปิดปากพยาน และ ฆ่าตัดตอนพยานได้ นั่นจึงทำให้ไม่มีใครอยากจะยุ่งเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้มากนัก การเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ง่ายกว่าการเอาชีวิตไปเสี่ยงแบบที่ไม่คุ้มเสีย … มีเงิน มีอำนาจ และมีเส้นสาย ถ้ามีครบทั้ง 3 ข้อนี้โอกาสรอดสูง และ “นักฟุตบอลอาชีพ” คือหนึ่งในอาชีพที่มีทั้ง 3 อย่างครบถ้วน
ทุกคนรู้ดีว่าที่บราซิล ฟุตบอลคือลมหายใจของผู้คนในประเทศ มันเป็นเหมือนกับศาสนาที่ใครได้เกิดความเคารพบูชาและศรัทธากับนักฟุตบอลชื่อดังคนใดขึ้นมา นักฟุตบอลคนนั้นจะเป็นเหมือนกับพระเจ้า ชี้ถูกเป็นผิด ชี้ผิดเป็นถูกได้เลยทีเดียว
“ที่บราซิล ฟุตบอลคือเรื่องใหญ่ในทุกตรอกซอกซอย สำหรับคนบราซิล ฟุตบอลคือศาสนา” โมนิกา อามาชาโด ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายการเมืองและผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิสตรีกล่าวกับ BBC เกี่ยวกับเรื่องคดีต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นโดยฝีมือนักฟุตบอล โดยยกตัวอย่างกรณีของ โรบินโญ่
“สโมสรฟุตบอลสามารถเป็นสื่อกลางและเข้าถึงประชากรในประเทศได้ดีกว่าที่รัฐบาลทำด้วยซ้ำ พวกสโมสรเหล่านี้คือหนึ่งในผู้สร้างวัฒนธรรมด้านความคลั่งไคล้ ซานโตส คือสโมสรใหญ่ที่เคยเป็นต้นสังกัดของ เปเล่ และนักเตะทีมชาติบราซิลอีกหลากหลายคน ทุกคนก็เลยรับได้ไม่ว่าอะไร แม้นักเตะจะมีความผิดฐานใช้ความรุนแรงต่อสตรีก็ตาม”
เมื่อผู้หญิงหรือใครก็ตามมีคดีความกับเหล่านักเตะบราซิลชื่อดัง น้อยครั้งที่พวกเธอจะเอาชนะได้ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม กระบวนการยุติธรรมไม่สามารถช่วยพวกเธอได้
ย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีก่อน เรื่องราวของ บรูโน่ แฟร์นันเดส ผู้รักษาประตูดีกรีทีมชาติบราซิล ก็ก่อคดีฆ่า เอลิซา ซามูดิโอ นางแบบและนักแสดงชาวบราซิล ก่อนที่จะหั่นศพเธอและเอาให้สุนัขพันธุ์ร็อดไวเลอร์กินเพื่ออำพรางคดี …
เรื่องนี้เป็นเหตุการณ์สะเทือนขวัญที่แสดงให้เห็นถึงกระบวนการยุติธรรมได้เป็นอย่างดี เพราะ เอลิซา พยายามแจ้งความตั้งแต่ครั้งแรก ๆ ที่เธอโดน บรูโน่ ทำร้ายร่างกาย โดยให้การว่า เธอโดน บรูโน่ ทุบตี และบังคับให้กินยาทำแท้งพร้อม ๆ กับการเอาปืนจ่อที่หัวของเธอ
ณ เวลานั้น ตำรวจรัฐริโอ ฝ่ายที่เชี่ยวชาญเรื่องความรุนแรงต่อผู้หญิง ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่ง ห้าม บรูโน เข้าใกล้ เอลิซา แต่ศาลกลับปฏิเสธคำร้องดังกล่าว ซึ่งจากจุดนั้นเองทำให้ บรูโน่ รอจนเวลาที่เหมาะสมและฆ่า เอลิซ่า ด้วยการจ้างวานให้ มาร์กอส อปาเรซิโด อดีตเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นคนลงมือนั่นเอง
จะเห็นได้ว่าคำตัดสินของศาลเกิดขึ้นแบบมีกลิ่นของความไม่ยุติธรรม มีการเปิดเผยว่า ณ เวลานั้นคำตัดสินปฏิเสธของศาลเกิดจากผลตรวจทางนิติวิทยาศาสตร์ของ เอลิซ่า ที่ล่าช้าจนหลักฐานไม่มากพอ ทำให้ บรูโน่ กลับมาฆ่าเธอได้ด้วยน้ำมือของอดีตตำรวจ ทั้งหมดคือการสะท้อนปัญหาเรื่องสิทธิสตรีเป็นอย่างมาก เมื่อผู้หญิงพูด เสียงของพวกเธอไม่ดังพอ เท่ากับที่เหล่านักฟุตบอลดังพูด
กลับมาที่เรื่องของ โรบินโญ่ กันอีกสักนิด ในวันที่เขาต้องขึ้นศาลเพื่อสู้คดีครั้งแรก มีการเรียกร้องจากกลุ่มสิทธิสตรีให้เอา โรบินโญ่ ออกจากทีมชาติ ทว่าเมื่อ โรบินโญ่ ได้ชี้แจงกับสหพันธ์ฟุตบอลบราซิล และ คาร์ลอส ดุงก้า กุนซือของทีม เขาชี้แจงเพียงว่าตนเองตกเป็นเหยื่อของพวกฉวยโอกาสเท่านั้น และเขาจะใช้เวลาเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวเอง
ณ เวลานั้น ทั้งสหพันธ์ฟุตบอลบราซิล และ ดุงก้า ต่างก็หนุนหลังและให้กำลังใจ โรบินโญ่ ขณะที่ข้อเท็จจริงของฝั่งผู้เสียหายถูกเมิน จนกระทั่งความจริงมาปรากฏว่า มีคลิปเสียงจากที่เกิดเหตุ และมีเสียงของ โรบินโญ่ ที่พูดขึ้นมาว่า “ผู้หญิงคนนี้เมาไม่ได้สติ” ซึ่งจากนั้นสิ่งต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดคดีความก็ดำเนินต่อไป … เมื่อถึงเวลาอันสมควร หลักฐานมากพอ ก็ชัดเจนว่า โรบินโญ่ ลงมือข่มขืนจริงและต้องรับโทษตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น
เราจะเห็นได้ว่าตลอดเวลาที่ผ่านมา โรบินโญ่ นั้นได้รับการสนับสนุนการกระทำผิดเสมอมา ไม่ว่าจะจากสโมสร แฟนบอล และคนใหญ่คนโตที่เขารู้จัก ซึ่งก็ไม่แปลกอะไร เพราะนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่นักเตะบราซิล เข้ามาพัวพันกับเรื่องของการข่มขืนแบบนี้ และยังคงได้รับกำลังใจล้นหลาม ต่างกับฝ่ายหญิงที่เป็นผู้ฟ้องร้อง ที่มักจะโดนเมินเฉยและมองว่าเป็นพวกตกทอง ฉวยโอกาสเรียกเงินจากเหล่านักเตะชื่อดังที่มีรายได้สูงนั่นเอง
ดำเนินต่อไป …
เมื่อความยุติธรรมไม่ได้มีไว้สำหรับทุกคน สิ่งนี้จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ปัญหาความรุนแรงกับสตรีหรือแม้กระทั่งเด็กในบราซิลยังคงไม่ลดลง และเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ คนจนไม่กล้าที่จะเกี่ยวข้องเพราะกลัวตายฟรี ส่วนคนใหญ่คนโต รวมถึงนักฟุตบอลด้วย ก็ไม่กลัวความผิดเพราะมีทางหนีทีไล่ … นี่คือปัญหาที่แท้จริง
โรบินโญ่ ยังไม่เคยคิดว่าตัวเองผิด จนกระทั่งทั่งวินาทีการตัดสินครั้งสุดท้ายของศาล เขาเปรียบเทียบกับตัวเองว่าเป็นเหยื่อของสื่อในยุคโซเชียลที่ชอบไล่ล่าเพื่อเรียกหายอดไลค์ และเปรียบเทียบสิ่งที่เขาเจอเหมือนกับสิ่งที่ประธานาธิบดี โบลโซนาโร ประสบอยู่ นั่นคือโดนโจมตีทุกอย่างไม่ว่าเรื่องอะไรก็ตาม
“ผมรู้สึกเหมือนกับตัวเองเป็น โบลโซนาโร ใคร ๆ ก็อยากจะโจมตีผม ที่ตุรกีกับที่อิตาลีไม่เป็นแบบนี้เลย ตอนนี้ที่บราซิลมีการเรียกร้องต่าง ๆ มากมาย ผู้คนล้วนแต่ต้องการยอดไลค์ ผมและ โบลโซนาโร ก็เหมือนกัน เราโดนกล่าวหาโดยไม่มีหลักฐาน”
ขณะที่เรื่องของ บรูโน่ นายประตูฆ่าหั่นศพ ก็ยังคงเป็นอีกหนึ่งกรณีตัวอย่างได้เป็นอย่างดี เพราะในวันที่เขาออกจากคุกมา ศาลไม่ได้มีการบังคับหรือติดตามพฤติกรรมของเขาเลยแม้แต่น้อย เขากลับมามีอิสระ 100% อยากทำอะไรก็สามารถทำได้ ซึ่งนั่นทำให้ครอบครัวของ เอลิซา ยังต้องหวาดผวาในทุกวันนี้
“เขาก่ออาชญากรรมร้ายแรง และมันก็ไร้สาระที่เขาจะกลายมาเป็นไอดอลของเด็กและวัยรุ่นตอนนี้” โซเนีย มูรา แม่ของเอลิซา กล่าวกับ BBC “ศาลอนุญาตให้เขาทำตามปรารถนา แต่ในขณะที่ฉันไม่สามารถทำได้แม้กระทั่งหาชิ้นส่วนที่เหลือของลูกสาวเจอ”
เมื่อผู้คนไม่กลัวที่จะทำความผิด หลายสิ่งหลายอย่างจึงดำเนินไปอย่างหลงทิศหลงทาง ที่ บราซิล เรื่องที่ไม่เคยได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง ความรุนแรงเหล่านี้กลายเป็นเรื่องปกติไปในท้ายที่สุด
“เรามีบุคลากรฟุตบอลเต็มประเทศไปหมด แต่สโมสรฟุตบอลในประเทศยังทำเหมือนกับว่าเรื่องความรุนแรงทั้งหลายที่เกิดขึ้นกลายเป็นเรื่องสนุก และเป็นเรื่องปกติที่ผู้ชายทุกคนทำ” ซาปาเซีย มาชาโด นักสิทธิสตรีชาวบราซิลกล่าว
“สิ่งที่เราอยากจะทำ คือทำให้สโมสรเหล่านี้เริ่มตระหนักได้ว่าพวกเขาเป็นองค์กรที่มีอำนาจ มีอิทธิพล ยิ่งกว่าพวกนักการเมืองด้วยซ้ำ ดังนั้นถ้าพวกเขาเริ่มเข้าใจว่าพฤติกรรมความรุนแรงเป็นเรื่องผิด และเริ่มช่วยเปลี่ยนความเชื่อที่ผู้คนคิดว่ามันเป็นเรื่องปกติเสียที”
“หลายปีผ่านไปเรายังไม่ได้เปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ในเชิงวัฒนธรรมเลย ด้วยความสัตย์จริงิเราเสียอะไรไปมากมายในรอบ 2-3 ปีที่ผ่านมา”
ถ้าการเมืองดี : คดี โรบินโญ่ ที่สะท้อนว่าการข่มขืนไม่ใช่เรื่องใหญ่ที่บราซิล